วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การแต่งกาย ผู้หญิงมุสลิม และผู้ชายมุสลิม ตามหลักอิสลาม



การแต่งกายของมุสลิม และมุสลิมมะห์ การแต่งกาย ผู้หญิงมุสลิม และผู้ชายมุสลิม ตามหลักอิสลามในอิสลาม วัตถุประสงค์สำคัญ ของการแต่งกายคือ การปกปิดสิ่งพึงละอายของร่างกาย โดยเฉพาะร่างกายของ ผู้หญิงมุสลิม ทั้งนี้ เพื่อที่จะไม่ให้ส่วนหนึ่งส่วนใด ของเรือนร่างเพศหญิง กระตุ้นอารมณ์ทางเพศ ของผู้ชาย ซึ่งจะก่อให้เกิด ความเสียหาย ขึ้นมาในสังคม จึงได้วางหลักเกณฑ์

     ฮิ ญาบ คือผ้าคลุมศีรษะของผู้หญิงมุสลิม เป็นเครื่องแต่งกายที่ใช้กันเป็นประจำในชีวิตประจำวันของสตรีทุกคนที่นับถือ ศาสนาอิสลาม เป็นสิ่งที่สตรีมุสลิมขาดไม่ได้ ในพื้นที่ชายแดนใต้ พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นชาวมุสลิม ทางใต้ได้คิดค้นภูมิปัญญาการเย็บปักผ้าคลุมอย่างประณีตเป็นเอกลักษณ์ เฉพาะตัว รักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ การออกแบบลายปักผ้าและสีสัน
      การคลุมฮิญาบของสตรีนั้น โดยทั่วไป จะเปิดเผยแค่ใบหน้าและฝ่ามือ ส่วนการปิดจนเหลือแต่ลูกตานั้นเป็นทัศนะที่ปฏิบัติเพื่อป้องกันตนเองจากฟิต นะห์ (ความไม่ดีไม่งามทางสังคม) เช่น ป้องกันการถูกแซว หรือ การหยอกล้อเชิงชู้สาวจากเพื่อนชาย เป็นต้น  เป็นวัฒนธรรมที่สวยงาม น่าชื่นชม


ภาพการแต่งกาย มุสลิมหญิง




การแต่งกายมุสลิมชาย

                     เสื้อผ้าของทั้ง ผู้ชายมุสลิม และ ผู้หญิงมุสลิม จะต้องสะอาด ประณีต เรียบร้อย ดูสวยงาม เหมาะสมกับบุคลิกภาพของผู้หญิงมุสลิม และผู้ชายมุสลิม การดำรงตนสมถะ หรือการเคร่งครัดในศาสนา ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการใส่เสื้อผ้าเก่าๆ ดูซอมซ่อ เพื่อให้คนอื่นดูว่าตัวเองไม่ใส่ใจใยดีต่อโลก อย่าแต่งกายให้คนอื่นดูถูก หรือมองเห็น เป็นตัวตลก ผู้ชายก็เช่นกัน จะแต่งตัวมิดชิด ใส่กางเกงขายาว และนิยมใส่เสื้อแขนยาวแต่สิ่งสำคัญของมุสลิมชาย คือ สวมผ้าโสร่ง และหมวกกปิเยาะ
หมวกกะปิเยาะ




                      หมวกกปิเยาะเดิมเป็นสัญลักษณ์แห่งวัฒนธรรมในการสวมใส่หมวกของชาวอาหรับ ซึ่งในประเทศแถบมลายูรวมถึงจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสของประเทศไทยจะนิยมสวมใส่หมวกที่เรียกกันว่า "ซอเกาะ" มากกว่า หมวกกะปิเยาะเป็นหมวกที่ชาวชาวไทยมุสลิมสวมใส่ประกอบศาสนกิจ (การประกอบพิธีละหมาด) และสวมใส่ประจำวัน เกิดจากการนำผ้าหลายๆชนิดมาตัดเย็บซ้อนกัน 3 ชั้น เย็บด้วยผ้าหลายชนิดทับซ้อนกัน และจะมีลวดลายต่าง ๆ บนหมวก ฝีมือการผลิตประณีต มีลวดลายปักและฉลุหลายแบบ


ผ้าโสร่ง

                    โสร่ง เป็นผ้านุ่งอย่างหนึ่ง ที่ใช้ผ้าผืนเดียว เพลาะชายสองข้างเข้าด้วยกันเป็นถุง แบบเดียวกับผ้าถุง หรือผ้าซิ่น ใช้นุ่งอย่างแพร่หลาย ทั้งหญิงและชาย ในหลายประเทศของเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านด้วย นอกจากนี้ยังนิยมใช้ในหลายท้องถิ่นในหมู่เกาะแถบมหาสมุทรแปซิฟิก โดยที่แต่ละท้องถิ่น จะมีชื่อเรียกต่างกันไป ทว่าอาจเรียกรวม ๆ ได้ว่า โสร่ง 



วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

อาหาร เอกลักษณ์ ของมุสลิม ใน3จังหวัดชายแดนภาคใต้


ไก่ฆอและ

ไก่กอและ หรือ ไก่ฆอและ เป็นอาหารมลายูปักษ์ใต้และมาเลเซีย เมนูนี้เป็นอาหารที่ชาวมุสลิมแถบชายแดนใต้ของไทยทำรับประทานกัน โดยเฉพาะที่ปัตตานีจะมีชื่อเสียงมาก บางแห่งจะทำไก่ฆอและขายคู่กับข้าวหลามด้วย ไก่กอและในภาษามลายูปาตานีจะ อ่านว่า "อาแยฆอและ" (Ayam Golek) คำว่า อาแย (Ayam) แปลว่าไก่ ฆอและ (Golek) แปลว่า กลิ้ง อาแยฆอและ จึงแปลว่า ไก่กลิ้ง ก็น่าจะหมายถึงการย่างเพราะต้องคอยพลิกกลับไปมา นอกจากจะใช้ไก่ทำแล้ว ยังสามารถใช้เนื้อสัตว์อื่น ๆ ทำได้ ถ้าใช้หอยแครงสดทำ เรียกว่า "กือเปาะห์ฆอและ" ใช้ปลาทำ เรียกว่า "อีแกฆอและ" ถ้าใช้เนื้อทำ เรียกว่า "ดาฆิงฆอและ"


แกงมัสมั่น

แกงมัสมั่น เป็นอาหารประเภทแกงที่ได้รับอิทธิพลมาจากอาหารมลายู ชาวไทยมุสลิมเรียกแกงชนิดนี้ว่า ซาละหมั่น แกงมัสมั่นแบบไทยออกรสหวานในขณะที่ตำรับดั้งเดิมของชาวมุสลิมออกรสเค็มมัน แกงมัสมั่น แบบชาวมุสลิมปักษ์ใต้ ต่างจากการปรุงแกงมัสมั่นของชาวไทยภาคกลางคือ จะไม่ทำเป็นน้ำพริกแกงมัสมั่น แต่จะผสมลูกผักชีป่น ยี่หร่าป่น พริกป่นอินเดียและพริกไทยป่นไว้เป็นผงเครื่องแกง จากนั้นจึงนำลงไปผัดกับน้ำมันที่เจียวหัวหอมแล้ว ส่วนแกงมัสมั่นแบบมลายู-ชวา จะใส่กานพลู อบเชย ลงไปผัดกับน้ำมันและหอมแดงจนหอม แล้วจึงใส่พริกป่นอินเดีย ลูกผักชีป่น ยี่หร่าป่น พริกไทยป่นลงไปผัดให้เข้ากัน นอกจากนั้นยังใส่มะพร้าวคั่ว ผงขมิ้น ดอกไม้จีนและหน่อไม้จีนด้วย 

โรตีมะตะบะ

                โรตีมะตะบะ เป็นอาหารขึ้นชื่อที่อยู่คู่กับชาวมุสลิม ใช้แป้งโรตีห่อไส้ไว้ภายในจะเป็นเนื้อวัว หรือเนื้อไก่ ผสมเครื่องเทศรสหอมหวานกลมกล่อม หากมองให้ดีก็จะคล้ายกับไข่ยัดไส้ เมื่อทอดเสร็จแล้วจะทานคู่กับอาจาด โรตีน้ำแกง จะเป็นแป้งโรตีธรรมดาหรือโรตีใส่ไข่ แต่ไม่ต้องใส่นมและน้ำตาล นำมาหั่นเป็นชิ้นพอดีคำรับประทานกับน้ำแกง โรตีกล้วยหอม แบบนี้หลาย ๆ คนอาจจะเคยทานกันบ้างแล้ว คือ โรตีทอด โดยมีเนื้อของกล้วยหอมฝานผสมแล้วหั่นเป็นชิ้น ๆ รสชาติจะหวานหอม แต่ไม่เลี่ยนจนเกินไป อีกแบบหนึ่งก็ คือ โรตีธรรมดาใส่ นมน้ำตาล แต่จะต่างจากที่เราทานแห่งอื่น ๆ ก็คือ โรตีส่วนใหญ่จะไม่ทอดจนกรอบ นิยมทอดแบบหนานุ่มมากกว่า

ประเพณี และ วันสำคัญ ของอิสลาม


จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยได้แก่จังหวัดสตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และพูดภาษามลายูท้องถิ่น มีสภาพความเป็นอยู่ วิถีชีวิต สังคม ประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ ตามหลักศาสนาอิสลาม มีลักษณะพิเศษเฉพาะท้องถิ่น


                                             ประเพณีการเข้าสุหนัต
 



                         การเข้าสุหนัต  (มาโซะยาวี)  คำว่า สุหนัต ภาษาอาหรับว่า สุนนะฮ แปลว่า แบบอย่างหรือแนวทาง หมายความว่า เป็นการปฏิบัติตาม นบีที่ได้เคยทำมา
                        คำว่า มาโซะยาวี  เป็นภาษามลายู (มาโซะ แปลว่า เข้า ยาวี เป็นคำที่ใช้เรียก ชาวอิสลามที่อยู่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยส่วนรวม)  หมายถึงเข้าอิสลาม หรือพิธีขลิบหนังปลายอวัยวะเพศชาย
                        การเข้าสุหนัตชายมักจะทำการเข้าสุหนัตในระหว่างอายุ 1 ขวบ ถึงอายุ 15 ขวบ หญิงจะเข้าสุหนัตตั้งแต่คลอดใหม่ ๆจนอายุไม่เกิน 2 ขวบ  พิธีเข้าสุหนัตหญิงนั้น หมอตำแยจะเอาสตางค์แดงมีรู วางรูสตางค์ตรงปลายกลีบเนื้อซึ่งอยู่ระหว่างอวัยวะเพศของทารกหญิงแล้วใช้มีด คม ๆ หรือปลายเข็มสะกิดปลายเนื้อส่วนนั้น ให้เลือดออกมาขนาดแมลงวันตัวหนึ่งกินอิ่ม เป็นอันเสร็จพิธี  ส่วนการเข้าสุหนัตชายนั้น ผู้ทำพิธีขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศเรียกว่า โต๊มูเด็ง บางราย จะจัดงานและมีขบวนแห่ใหญ่โต เชิญแขกเหรื่อให้มากินเหนียว (มาแกปูโละ) หรือบางรายจัดให้มีการแสดงมหรสพ เช่น มะโย่ง ลิเกฮูดูให้ชมด้วย

ประเพณีฮารีรายอ 


 
ประเพณีฮารีรายอ  เทศกาล ฮารีรายอมีอยู่สองวันคือ
                    1. วันฮารีรายอ หรือวันอิฎิลฟิตรี เป็นวันรื่นเริง เนื่องจากสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน เป็นการกลับเข้าสู่สภาพเดิม ตรงกับวันที่หนึ่งของเดือนเซาวาล ซึ่งเป็นเดือนที่สิบทางจันทรคติ  การปฏิบัติของชาวอิสลามในวันรายอจะบริจาคทานเรียกว่า ซากัดฟิตเราะห์ (การบริจาคข้าวสาร) มีการบริจาคทานแก่คนแก่หรือคนยากจน บางทีจึงเรียกว่า วันรายอฟิตเราะห์ หลังจากนั้นจะไปละมาดที่มัสยิด จากนั้นจะมีการขอขมาจากเพื่อน มีการเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องที่อยู่ใกล้และไกลออกไป มีการเลี้ยงอาหารด้วย
 2. วันฮารีรายอหัวญี หรือวันรายออิฎิลอัฎฮา  คำว่า อัฎฮา แปลว่า การเชือดพลี เป็นการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่ประชาชนและคนยากจน อิดัลอัดฮา จึงหมายถึงวันรื่นเริงเนื่องในวันเชือดสัตว์พลี ตรงกับวันที่สิบของเดือนซุลฮจญะ เป็นเวลาเดียวกับการประกอบพิธีหัจญ์ ที่เมืองเมกกะของชาวอิสลามทั่วโลก ชาวไทยอิสลามจึงนิยมเรียกวันตรุษนี้ว่า วันอีดใหญ่  การปฎิบัติจะมีการละหมาดร่วมกันและเชือดสัตว์เช่น วัว แพะ แกะ แล้วแจกจ่ายเนื้อสัตว์เหล่านั้นแก่คนยากจน การเชือดสัตว์พลีนี้เรียกว่า กรุบาน
            การปฏิบัติตนในวันนี้ คือ
                1. อาบน้ำสุหนัต ทั้งชายและหญิง และเด็กที่สามารถไปละหมาดได้ เวลาดีที่สุดคือหลังจาก
                    แสงอรุณขึ้นของวัน ฮารีรายอ
                2. แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาดสวยงาม
                3. บริจาคซะกาดฟิตเราะห์ก่อนละหมาด อิฎิลฟิตรี
                4. ให้ทุกคนไปละหมาดรวมกันกลางแจ้งหรือที่มัสยิด และฟังการบรรยายธรรมหลังละหมาด
                5. การกล่าวสรรเสริญ อัลเลาะห์
                6. ทำกรุบาน ถ้ามีความสามารถด้านการเงิน
                7. เยี่ยมเยียน พ่อแม่ ญาติ และครูอาจารย์ เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์กับขออภัยซึ่งกันและ
                     กันในความผิดพลาด ที่อาจเกิดขึ้นทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว






สถานที่สำคัญ และ มัสยิดที่โดดเด่น ของอิสลาม


เมกกะ : นครอันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลาม
นครเมกกะที่เนืองแน่นไปด้วยชาวมุสลิม ผู้มีศรัทธาอย่างแรกกล้าจากทั่วทุกมุมโลกมารวมกันเพื่อประกอบ พิธีฮัจย์ (Hajj)  ซึ่งถือเป็น หลักศาสนาบัญญัติประการที่ 5 (Fifth Pillar of Islam) โดยได้กำหนดให้สามารถกระทำได้ ณ นครแห่งนี้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น  ด้วยความสำคัญดังกล่าวจึงทำให้สามารถเข้าใจได้ไม่ยากนักถึงเหตุผลที่ ทำให้ นครแห่งนี้เป็นนครศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลามมาจนถึงปัจจุบัณ  ตามความเชื่อของศาสนาอิสลามนั้น จุดแรกของนครเมกกะคือ วิหารกะบะห์ (Ka’bah) สร้างขึ้นโดยท่านนบีอะดัม (Adam) และพระนางเฮาวาอ์ (Hawwah) ซึ่งเป็นมนุษย์ชายหญิงคู่คนแรกของโลก ตามเทวบัญชาขององค์อัลเลาะห์ เพื่อเป็นสถานที่แสดงความเคารพสักการะพระองค์ และต่อมาก็ได้รับการบูรณะโดยท่านนบีอิบรอฮีม (Ibrahim) และท่านนบีอิสมาอิล (Isma’il) โดยหลังจากที่ท่านนบีทั้งสองได้บูรณะวิหารดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว เทวทูตได้ปรากฏกายขึ้น และนำหินดำอันศักดิ์สิทธิ์ที่ประทานจากองค์อัลเลาะห์ มาให้ท่านทั้งสอง ณ เนินเขาญะบัล กูบิส (Jabal Qubais) ท่านนบีมูฮัมหมัดกล่าวว่า เมื่อครั้งอยู่ในสรวงสวรรค์ หินดังกล่าวเคยมีสีขาวบริสุทธิ์ยิ่งกว่าน้ำนม แต่ต้องมากลายเป็นสีดำในช่วงที่ตกลงมาสู่ภูมิของมนุษย์ เนื่องจากมลทินที่มนุษย์ได้กระทำไว้



ความเชื่อ การศรัทธา หลักธรรม ของอิสลาม


อิสลาม  คือรูปแบบการดำเนินชีวิตทีถูกกำหนดโดยผู้ที่รู้รายละเอียดของมนุษย์มากที่สุดก็คือผู้สร้าง อัลลอฮฺ  คำว่า อัลลอฮฺ แปลว่า พระเจ้า ซึ่งเป็นคำเรียกเฉพาะที่แยกออกจากคำในภาษาอาหรับอื่นๆที่มีความหมายว่า พระเจ้า

อิสลาม  เป็นคำภาษาอาหรับ الإسلام แปลว่า การสวามิภักดิ์ ซึ่งหมายถึงการสวามิภักดิ์อย่างบริบูรณ์แด่ อัลลอฮฺ พระผู้เป็นเจ้า ด้วยการปฏิบัติตามคำบัญชาของพระองค์ อิสลาม มีรากศัพท์มาจากคำว่า อัส-สิลมฺ หมายถึง สันติ โดยนัยว่าการสวามิภักดิ์ต่อพระผู้เป็นเจ้าจะทำให้มนุษย์ได้พบกับสันติภาพ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ตั้งแต่แรกเริ่มของการกำเนิดของมนุษย์ คือ นบีอาดัม ผ่านศาสดามาหลายท่านในแต่ละยุคสมัย จนถึงศาสดาท่านสุดท้ายคือ มุหัมมัด และส่งผ่านมายังปัจจุบันและอนาคต จนถึงวันสิ้นโลก

มุสลิม เชื่อว่า พระเจ้าเป็นหนึ่งและหาที่เปรียบไม่ได้ และจุดประสงค์ของการดำรงอยู่ คือ เพื่อรักและรับใช้พระเจ้า 
หลักจริยธรรม
ศาสนาอิสลาม สอนว่า ในการดำเนินชีวิตจงเลือกสรรเฉพาะสิ่งที่ดี อันเป็นที่ยอมรับของสังคม จงทำตนให้เป็นผู้ดำรงอยู่ในศีลธรรม พัฒนาตนเองไปสู่การมีบุคลิกภาพที่ดี เป็นคนที่รู้จักหน้าที่ ห่วงใย มีเมตตา มีความรัก ซื่อสัตย์ต่อผู้อื่น รู้จักปกป้องสิทธิของตน ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น เป็นผู้มีความเสียสละไม่เห็นแก่ตัว และหมั่นใฝ่หาความรู้ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นคุณสมบัติของผู้มีจริยธรรม ซึ่งความสมบูรณ์ทั้งหมดอยู่ที่ความยุติธรรม

หลักการปฏิบัติ

ศาสนาสอนว่า กิจการงานต่าง ๆ ที่จะทำนั้น มีความเหมาะสมกับตนเองและสังคม ขณะเดียวกันต้องออกห่างจากการงานที่ไม่ดี ที่สร้างความเสื่อมเสียอย่างสิ้นเชิง   ส่วนการประกอบคุณงามความดีอื่น ๆ การถือศีลอด การนมาซ และสิ่งที่คล้ายคลึงกับสิ่งเหล่านี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงการเป็นบ่าวที่จงรักภักดี และปฏิบัติตามบัญชาของพระองค์ กฎเกณฑ์และคำสอนของศาสนา ทำหน้าที่คอยควบคุมความประพฤติของมนุษย์ ทั้งที่เป็นหลักศรัทธา หลักปฏิบัติและจริยธรรม

            หลักศรัทธาอิสลาม ตามแนวท่านศาสดาที่เชื่อถือได้ (ซุนนีย์)

1.             ศรัทธาว่าอัลลอฮฺเป็นพระเจ้า
2.             ศรัทธาในบรรดาคัมภีร์ต่าง ๆ ที่อัลลอหฺประทานลงมาในอดีต เช่น เตารอต อินญีล ซะบูร และอัลกุรอาน
3.             ศรัทธาในบรรดาศาสนทูตต่าง ๆ ที่อัลลอฮฺได้ทรงส่งมายังหมู่มนุษย์ และนบีมุฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นศาสนทูตคนสุดท้าย
4.             ศรัทธาในบรรดามะลาอิกะฮฺ บ่าวผู้รับใช้อัลลอฮฺ
5.             ศรัทธาในวันสิ้นสุดท้าย คือหลังจากสิ้นโลกแล้ว มนุษย์จะฟื้นขึ้น เพื่อรับการตอบสนองความดีความชั่วที่ได้ทำไปบนโลกนี้
6.             ศรัทธาในกฎสภาวะ หรือ สิ่งที่เป็นการกำหนด และเงื่อนไขการกำหนดจากพระผู้เป็นเจ้า


ประวัติความเป็นมาของศาสนาอิสลาม


เริ่มขึ้นภายหลังปี ค.ศ. 632 ที่นบีมุฮัมมัดสิ้นพระชนม์ จากชุมชนมุสลิมที่นบีตั้งขึ้นแล้วในคาบสมุทรอาหรับ ต่อมามีการเผยแพร่ศาสนาอิสลามไปอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในจักรวรรดิกาหลิบรอชิดีนและช่วงราชวงศ์อุมัยยะห์ที่ศาสนาอิสลามแพร่ไปถึงทวีปยุโรปตอนใต้ ส่วนมากชาวมุสลิมจะขยายอาณาเขตโดยการทหารและบังคับให้ประชาชนในบริเวณนั้นเข้ารีตอิสลามด้วย
หลายร้อยปีต่อมามีราชวงศ์มุสลิมปกครองหลายประเทศทั่วโลกด้วยกัน ได้แก่ ราชวงศ์อับบาซียะห์ ราชวงศ์ฟาติมียะห์ ราชวงศ์เซลจุค ราชวงศ์ซาฟาวิยะห์ และมีจักรวรรดิมุสลิมที่แผ่อาณาเขตออกไปกว้างใหญ่ไพศาล เช่น จักรวรรดิโมกุลในประเทศอินเดีย และจักรวรรดิออตโตมันในประเทศตุรกีและคาบสมุทรบอลข่าน
ปัจจุบันศาสนาอิสลามแพร่ไปทั่วโลกจากเมืองเมกกะ ไปถึง ประเทศจีน และ ประเทศอินโดนีเซีย (ซึ่งมีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก) และมีการแพร่ ไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก รองจากศาสนาคริสต์